BOSTON_Artboard 3.jpg

เนื้อหานี้ส่วนใหญ่ดัดแปลงจาก Age-Friendly Boston Plan 2017

หลังจากประเมินความต้องการของชาวเมืองไปแล้ว ก็เข้าสู้ช่วงของการวางแผนลงมือทำเพื่อการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ โดยในขั้นแรก ทีมงาน Age-Friendly Boston Initiative ได้รวบรวมคนมาเป็นคณะทำงาน 8 ชุด ตามประเด็นการพัฒนา 8 เรื่อง คณะทำงานแต่ละชุดประกอบด้วยคนจากภาคส่วนต่างๆ เช่น คนที่เป็นปากเสียงให้ชาวเมือง ผู้ให้บริการแก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนคร หน้าที่ของคณะทำงานแต่ละชุดคือการกำหนด "ชิ้นงานสำหรับลงมือทำ" (Action Items) เพื่อให้เป็นคำแนะนำสำหรับคณะกรรมการที่จะพัฒนา Age-Friendly Boston Action Plan (แผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบอสตันให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ) ต่อไป

กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการนำความเชี่ยวชาญของคนที่มาร่วมในคณะทำงานแต่ละเรื่องมาใช้ในกระบวนการวางแผนเท่านั้น แต่คนเหล่านี้เองก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ที่ต้องนำแผนเหล่านี้ไปปฏิบัติด้วย การได้มีส่วนร่วมและเห็นพ้องไปด้วยกันจึงมีความสำคัญยิ่งยวด

หลังจากนั้น ทีมงานในโครงการ Age-Friendly Boston Initiative ก็จัดงานให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอีกสองครั้ง โดยเป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้มีสองเรื่อง หนึ่ง เพื่อให้ชุมชนทราบผลการประเมินความต้องการและบอกให้ประชาชนรู้ว่ากำลังเข้าสู่ระยะของการลงมือทำจริงแล้ว สอง เพื่อให้ชาวเมืองได้ส่งเสียงว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องไหน ซึ่งชาวเมืองที่จะได้รับผลจากแผนปฏิบัติการ ก็จะได้เห็นชิ้นงานสำหรับลงมือทำ และยืนยันว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลแล้ว

การจัดงานสองครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมราว 80 คน โดยมีผู้จัดคือองค์กรที่ทำงานกับชุมชน คณะกรรมการวางแผนปฏิบัติการ (Action Planning Committee) จะได้ทราบว่า ชาวเมืองลงคะแนนให้ชิ้นงานสำหรับลงมือในประเด็นไหนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

สำหรับคณะกรรมการวางแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาเมืองบอสตันให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (คณะกรรมการวางแผนฯ) นั้น ประกอบขึ้นจากสมาชิกในชุมชน 12 คน หลายคนมีความเชี่ยวชาญในประเด็นเฉพาะ เช่น ที่อยู่อาศัยและการคมนาคม โดยคณะกรรมการชุดนี้ประชุมกันเจ็ดครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2016 และจัดทำข้อเสนอแนะและชิ้นงานสำหรับลงมือทำร่างแรกขึ้นมา

5 หลักการ 3 ประเด็นจับตา

ในช่วงการจัดทำแผนปฏิบัติการ มีประเด็นใหญ่หลายเรื่องที่ปรากฏขึ้นมาและเกี่ยวพันกับประเด็นการพัฒนาหลายเรื่องในคราวเดียว ประเด็นใหญ่เหล่านี้จึงกลายมาเป็น 5 หลักการสำหรับการนำแผนปฏิบัติการไปใช้จริง ได้แก่

  1. ความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม : กลุ่มคนผิวสีเป็นชุมชนที่จำนวนผู้สูงอายุจะเติบโตขึ้นเร็วที่สุด ดังนั้น ทีมงานจึงต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมของชาวเมือง โดยจะต้องมีความตระหนักรู้และเข้าใจความต้องการที่แตกต่างกันไปในกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์ต่างๆ
  2. คนหลายรุ่นต้องพึ่งพากัน : การพัฒนาเมืองบอสตันให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ต้องตระหนักว่าความกังวลและเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของผู้สูงอายุ ก็เกี่ยวโยงโดยตรงกับความกังวลและเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของคนรุ่นที่เด็กลงมาด้วย ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน เพื่อนบ้าน หรือมิตรสหาย ทั้งนี้เพราะเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุ จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชาวเมืองทุกช่วงวัย
  3. การสื่อสารที่ชัดเจนและเสมอต้นเสมอปลาย : การสื่อสารเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ชิ้นงานสำหรับลงมือทำแต่ละเรื่องสำเร็จได้ และยังเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาเมืองบอสตันให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ
  4. สู้กับการเหยียดผู้สูงอายุ : ต้องหากลยุทธ์และแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อลดแนวคิดที่เหยียดผู้สูงอายุ (ageism) ทั้งนี้เพื่อให้บอสตันเป็นเมืองที่ได้ประโยชน์จากความสามารถและพลังของผู้สูงอายุ เพราะถึงที่สุดแล้ว เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุก็คือเมืองที่ตระหนักถึงคุณูปการที่ผู้สูงอายุสร้างแก่ชุมชน
  5. ผนึกกำลังเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์ : บอสตันเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยองค์กรมากมายที่อุทิศตนทำงานกับผู้สูงอายุ โครงการ Age-Friendly Boston Initiative จะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่แล้วกับองค์กรชุมชนและองค์กรที่ไม่แสวงกำไรเหล่านี้ นอกจากนี้ยังจะสร้างความเป็นหุ้นส่วนใหม่ๆ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

นอกจาก 5 หลักการที่โครงการนี้ใช้เป็นเข็มทิศในการนำนโยบายไปใช้จริงแล้ว โครงการนี้ยังอีก 3 ประเด็นจับตาที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในบอสตันอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ภาวะสมองเสื่อม ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และการอยู่โดดเดี่ยวจากสังคม โดยใช้สัญลักษณ์ [D] [E] และ [S] ในชิ้นงานสำหรับลงมือทำแต่ละเรื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ชิ้นงานดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาในประเด็นจับตาดังกล่าว